
ความยิ่งใหญ่ทางทหารของจีนยังคงน่าสงสัย แม้จะมีการขยายตัวครั้งใหญ่ก็ตาม
ทอม แอบกี
หลักฐานของการขยายตัวทางทหารของจีนเพิ่มสูงขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งกองเรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ กองทัพอากาศที่มีเครื่องบินรบที่สร้างใหม่เมื่อไม่นานมานี้จำนวน 600 ลำ และกองทัพบกที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ล้วนเป็นข่าวใหญ่พาดหัวมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การประเมินประสิทธิภาพของกองทัพจีนเป็นเรื่องที่ยากกว่า
ทั้งการกล่าวอ้างที่เกินจริง การหยุดชะงักของงานใหญ่อย่างการพัฒนากองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนเนื่องจากการคว่ำบาตรทางอาวุธที่ยังค้างคาอยู่ ระบบความมั่นคงภายในที่กระจัดกระจายและการขาดประสบการณ์ในสนามรบ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจรั้งความยิ่งใหญ่ทางทหารของจีน นายธรูวา ไจชานการ์ นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของสถาบันบรูกกิงส์ที่อินเดียเขียน
สถาบันบรูกกิงส์ตีพิมพ์การวิเคราะห์ของนายไจชานการ์ในบทวิจารณ์เมื่อดือนมีนาคม พ.ศ. 2561
นายทิโมธี ฮีธ นักวิเคราะห์การวิจัยอาวุโสด้านกลาโหมระหว่างประเทศของแรนด์ คอร์ปอเรชัน เห็นด้วยกับความสงสัยของนายไจชานการ์บางส่วน “ผมเห็นด้วยว่าการขาดประสบการณ์การรบเป็นจุดอ่อนอย่างมากของกองทัพปลดปล่อยประชาชน” นายฮีธกล่าว “โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้อพิพาทที่อาจเกี่ยวเนื่องกับฝ่ายปรปักษ์ที่มีอำนาจมากอย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ เหตุผลหลักก็คือรูปแบบการรบที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนต้องการใช้ นั่นคือ การรบรร่วมแบบผสมผสาน มีความซับซ้อนสูงและยากที่จะดำเนินการ แม้ในหมู่ชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เอง ยังมีน้อยประเทศมากที่จะสามารถทำได้” (ภาพ: เหลียวหนิง ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำเดียวของจีน ล่องเข้าสู่น่านน้ำฮ่องกง เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ได้รับการตั้งชื่อตามมณฑลหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน)
นายฮีธกล่าวเพิ่มเติมว่า การสืบทอดระบบรวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาและการควบคุม การปฏิบัติตามผู้มีอำนาจ และความไม่ไว้วางใจในการริเริ่มส่วนบุคคล อาจไม่ใช่อุปสรรคกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการต่อกรกับคู่ต่อสู้ที่อ่อนแอกว่า แต่อาจเป็นข้อจำกัดอย่างใหญ่หลวงเมื่อต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่มีขีดความสามารถสูง “ความสามารถของกองทัพจีนยังคงอ่อนแอในการแสดงอำนาจเลยแนวห่วงโซ่เกาะแรก” นายฮีธกล่าว “นอกจากนี้ ความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการใช้อาวุธที่อิงเทคโนลียีขั้นสูงยังคงเป็นที่กังขา เนื่องจากกองทัพยังขาดประสบการณ์ด้านการรบ”
ด้านความกดดันของกองทัพจากความต้องการด้านความมั่นคงภายใน นายฮีธกล่าวว่า นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้รวบรวมและจัดแบ่งอำนาจอย่างเพียงพอแล้วเพื่อลดปัญหานี้
ข้อจำกัดด้านการนำเข้าก็เป็นจุดรั้งน้อยลงเช่นกัน
“ในทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) ผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางอาวุธนานาชาตินับตั้งแต่เหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินทำให้กองทัพจีนลดการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ และเพิ่มการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และระบบอาวุธจากรัสเซียแทน ปัจจุบันมาตรการคว่ำบาตรทางอาวุธยังคงมีอยู่ จีนจึงยังคงพึ่งพิงรัสเซียต่อไปแทนการใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ หรือยุโรปในการตอบสนองความต้องการด้านการนำเข้าเทคโนโลยีของตน
ในประเด็นนี้ นายไจชานการ์กล่าวว่าจีนพึ่งการนำเข้าอาวุธน้อยลงเนื่องจากอุตสาหกรรมกลาโหมของจีนเองกำลังดำเนินไปด้วยดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “วิศวกรรมย้อนกลับและการโจรกรรมเทคโนโลยี”
กองทัพปลดปล่อยประชาชนมีการลดขนาดของกองทัพบกลง นายฮีธกล่าว โดยให้ความสำคัญกับกองทัพเรือ กองทัพอากาศและขีปนาวุธแทน เนื่องจากมีแนวโน้มในการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นมากกว่า
“กองทัพบกที่มีขนาดใหญ่แสดงถึงโครงสร้างกองกำลังที่ล้าสมัยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น” นายฮีธสรุป “ซึ่งเป็นสมัยที่จีนเกรงกลัวการรุกรานจากสหภาพโซเวียต การลดกองกำลังกองทัพบกจึงเป็นการปฏิรูปที่เป็นเหตุเป็นผลและควรที่จะดำเนินการนานแล้ว ผมไม่คิดว่าการลดกองกำลังนี้จะมีผลเสียหายกับขีดความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนแต่อย่างใด”